เมื่อไม่นานมานี้ สหรัฐฯ เพิ่งออกกฎหมายอนุญาตให้นำครีมกันแดดไซส์ปกติขึ้นเครื่องบินได้แล้ว เนื่องจากครีมกันแดดถือเป็นเหมือน ‘อุปกรณ์’ สำคัญในการลดความเสี่ยงของมะเร็งผิวหนัง แต่กระนั้น ความเชื่อที่เกี่ยวกับครีมกันแดดก็ยังมีมากมาย จะมีอะไรบ้าง ลองมาดูกัน
1. ครีมกันแดดไม่ใช่สิ่งจำเป็น ถ้าไม่โดนแดดก็ไม่ต้องทาก็ได้
หลายคนเข้าใจว่าครีมกันแดดจำเป็นต่อเมื่อเราออกแดดเท่านั้น แต่ในความจริงแล้ว ในอาคารที่เต็มไปด้วยแสงไฟและแสงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็มีอันตรายต่อผิวเราไม่แพ้กัน โดยเฉพาะแสงสีฟ้า หรือ Blue light ที่อาจทำให้ผิวแห้งและมีริ้วรอยก่อนวัยได้ ในขณะที่หน้าต่างกระจกเองก็สามารถกรองแต่รังสียูวีบีได้เท่านั้น ไม่ได้กรองรังสียูวีเอแต่อย่างใด ครีมกันแดดจึงควรถูกผนวกเข้าไปในสกินแคร์ของคุณ และควรทาทุกวันไม่ว่าคุณจะอยู่บ้านหรือออกไปข้างนอก
2. ครีมกันแดดจะทำให้ผิวไม่ดูดซึมวิตามินดี
วิตามินดีเป็นวิตามินที่อยู่ในแสงแดด เมื่อยากันแดดช่วยบล็อครังสียูวี หลายคนจึงคิดว่าครีมกันแดดจะบล็อควิตามินดีไปด้วย ในความเป็นจริงแล้ว ผิวของเราต้องโดนแดดประมาณ 15 นาทีต่อวันจึงจะได้รับวิตามินดีที่เพียงพอ เมื่อเกินกว่านั้น กระบวนการผลิตวิตามินดีจะหยุดเอง ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาใดชี้ว่าการทาครีมกันแดดทำให้ผิวได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ แต่ถ้าอยากให้ชัวร์ ก็รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูงอย่างแซลมอน ทูน่า หรือชีสก็ได้
3. คนที่มีผิวสีเข้มไม่จำเป็นต้องทาครีมกันแดด
บางคนเชื่ออว่าคนผิวสีเข้มไม่ต้องทาครีมกันแดด เพราะเมลานินช่วยกระจายรังสียูวีบีและปกป้องผิวจากการไหม้แดดอยู่แล้ว แต่พวกเขาอาจจะลืมไปว่าเมลานินไม่ใช่ช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวีเอด้วย เพราะฉะนั้นแม้คนผิวเข้มจะมีภูมิต้านทานต่อแสงแดดดีกว่าคนผิวสีอ่อน แต่อย่างน้อยก็ควรใช้ครีมกันแดดแบบ broad-spectrum ไม่เช่นนั้นอาจจะประสบปัญหาริ้วรอยก่อนวัยได้ และที่สำคัญคือเมลานินไม่ได้ช่วยปกป้อองผิวจากมะเร็งผิวหนังด้วย งานวิจัยโดย Dawes และคณะในปีค.ศ. 2016 ชี้ว่าเชื้อชาติที่มีสีผิวเข้มกว่ามีอัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งผิวหนังน้อยกว่าเชื้อชาติที่มีผิวสีอ่อนกว่า
4. ทาครีมกันแดดตอนเช้าครั้งเดียวก็พอแล้ว
อาจจะใช้ได้อยู่กับคนที่ไม่ได้สัมผัสกับแดดมาก แต่ถ้าทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ต้องเจอกับแสงแดดอันร้อนแรงโดยตรง ควรทาครีมกันแดดซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง เพราะประสิทธิภาพของครีมกันแดดจะลดลงตามระยะเวลา
5. ครีมกันแดดจะมีความสามารถในการปกป้องผิวได้เท่ากับที่แจ้งไว้
จริงๆ แล้ว การทดสอบโดย Consumer Reports ในปีค.ศ. 2016 ชี้ว่าประสิทธิภาพการปกป้องผิวของครีมกันแดดส่วนใหญ่มักจะน้อยกว่าค่า SPF ที่แจ้งไว้ แต่ก็มีครีมกันแดดบางแบรนด์ที่สามารถทำได้ตามคำเคลมเหมือนกัน สำหรับในชีวิตประจำวัน แพทย์ผิวหนังส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้เลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 เป็นอย่างน้อย
6. ครีมกันแดดสามารถเป็นพิษและเอาสารเคมีที่เป็นอันตรายมาอยู่บนผิวของคุณ
แม้ว่าสารอย่าง Oxybenzone อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรืออาจไปยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนบางชนิด แต่ก็ไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนที่ชี้ชัดว่าครีมกันแดดเป็นสาเหตุของปัญหาด้านสุขภาพของมนุษย์ ปัญหาที่มักจะเกิดคืออาการรูขุมขนอุดตันจากการใช้ครีมกันแดดที่มีซิลิโคน หรืออาการระคายเคืองมากกว่า ซึ่งผู้ที่มีอาการแพ้ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการเลือกครีมกันแดดที่ไม่มีส่วนผสมของสารดังกล่าว
7. เมื่อใช้เครื่องสำอางที่มี SPF แล้ว ไม่ต้องทาครีมกันแดดก็ได้
จริงๆ แล้วควรจะให้ครีมกันแดดยืนพื้นไว้ดีกว่า แล้วให้ SPF ในเครื่องสำอางมาช่วยเสริมการทำงาน และจะให้ดี SPF ในเครื่องสำอางควรจะไม่น้อยกว่า 30 ด้วย
8. คนที่ตากแดดเท่านั้นที่จะมีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนัง
การได้รับแสงแดดมากเกินไปไม่ได้เกิดในเฉพาะคนที่อาบแดดเพื่อให้ผิวเป็นสีแทนเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัวในบางภูมิภาค เช่น ประเทศออสเตรเลียที่มีความเข้มข้นของรังสียูวีสูง เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญคือมะเร็งผิวหนังมีแนวโน้มที่จะเกิดกับผู้ที่ได้รับแสงแดดมากเกินไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นนถ้าทาครีมกันแดดและไม่ได้ออกแดดบ่อยๆ ก็หมดห่วงไประดับหนึ่ง
อ้างอิง
https://www.medicalnewstoday.com/articles/318290#Outlook
https://www.berkeleywellness.com/self-care/preventive-care/article/sunscreen-myths-vs-facts
https://www.cancer.org.au/cancer-information/causes-and-prevention/sun-safety/10-myths-about-sun-protection
ไอเทมกันแดดที่แนะนำ