fbpx

ครีมกันแดดทำร้ายปะการังอย่างไร? ทำไมหลายประเทศถึงแบนครีมกันแดดที่ทำร้ายปะการัง?

เมื่อสารกันแดดคือหนึ่งในตัวการที่ก่อให้เกิดมลภาวะในทะเล...

มาทำความรู้จักกับปะการังกันก่อน

ปะการัง เป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง เกิดจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆ ชนิด รวมถึงมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆเช่น สาหร่ายหินปูน หอยที่มีเปลือกแข็ง ฯลฯ ที่มีส่วนเสริมสร้างหินปูนสะสมในแนวปะการัง และเมื่อตายไปแล้วก็จะยังคงเหลือซากหินปูนทับถมพอกพูนต่อไป

เนื่องจากแนวปะการังประกอบด้วยปะการังหลายชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะโครงสร้างแตกต่างกันไป ทำให้เหมาะต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น ปลาชนิดต่าง ๆ กุ้ง หอย ดาวทะเล ปลิงทะเล ฟองน้ำ ปะการังอ่อน กัลปังหา หนอนทะเล สาหร่ายทะเล เป็นต้น แนวปะการังจึงเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในทะเล

ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังดึงดูดให้มีการใช้ประโยชน์จากแนวปะการังมากขึ้นทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม รวมถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมมาก (ข้อมูลจาก: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

ปัจจุบันปัญหามลภาวะกลายเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งในเรื่องของอากาศ ฝุ่นละออง ควันจากไฟป่า ขยะในมหาสมุทร และมลภาวะอีกอย่างที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนักคือมลภาวะที่เกิดจากสารกันแดดที่อยู่ในน้ำทะเลนั่นเอง

แม้เราจะถูกบอกว่าเวลาออกแดดให้ทาครีมกันแดดทุกครั้ง แต่สิ่งที่ให้คุณประโยชน์แก่เราอาจกลายเป็นโทษให้กับสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน ในแต่ละปีคาดว่ามีครีมกันแดดถึง 6,000 ตันตกค้างอยู่ในทะเลทั่วโลก โดยจะกระจุกตัวอยู่ในบริเวณที่นักท่องเที่ยวมาว่ายน้ำหรือดำน้ำดูปะการังเป็นส่วนใหญ่ 

แล้วครีมกันแดดส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง?

งานวิจัยโดย Downs และคณะ เพื่อองค์กร National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) และองค์กรอื่นๆ ในสหรัฐฯ ชี้ว่า ปะการังอ่อนที่สัมผัสกับสาร Oxybenzone และ Octinoxate ที่มีในสารกันแดดแสดงออกถึงภาวะเครียด โดยมีสีซีดจางลง ซึ่งทำให้ปะการังติดเชื้อได้ง่ายและไม่สามารถได้รับสารอาหารได้เต็มที่อย่างที่เคย นอกจากนี้ สารทั้งสองชนิดยังสร้างความเสียหายต่อดีเอ็นเอและทำให้โครงสร้างปะการังเจริญเติบโตผิดปกติด้วย 

งานวิจัยชิ้นนี้ถูกนำมาต่อยอดโดยงานวิจัยในปีค.ศ. 2008 โดยนักวิจัยชาวอิตาเลียน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health Perspectives โดยงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่าส่วนผสมของครีมกันแดดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย (รวมถึง Oxybenzone) ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) ไปทั่วโลก ทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก แม้ส่วนผสมที่ว่าจะมีความเข้มข้นไม่มากก็ตาม โดยในปีค.ศ. 2018 รัฐฮาวายเป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่ประกาศแบนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสองชนิดนี้ ตามมาด้วยเมืองฟลอริดา (มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์ในปีค.ศ. 2021) ส่วนปาเลา (Palau) ถือเป็นประเทศแรกที่มีการแบนครีมกันแดดที่มีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากปะการังที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำแล้ว งานวิจัยอื่นๆ ก็ได้ผลออกมาไปในทิศทางเดียวกันว่าครีมกันแดดมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบางชนิดในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เช่น สารบางชนิดไปยับยั้งการเจริญเติบโตและการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายสีเขียว ในขณะที่สารบางชนิดทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ของปลาลดลง และทำให้ปลาเพศชายมีลักษณะเป็นเพศหญิงมากขึ้น เป็นต้น

แต่ก็โชคดีที่เมื่อตระหนักถึงปัญหานี้ ปัจจุบัน มีหลายแบรนด์เลือกผลิตครีมกันแดดที่เป็นมิตรต่อปะการังมากยิ่งขึ้น โดยผลิตภัณฑ์กันแดดที่เป็นมิตรต่อปะการัง หรือ reef-friendly sunscreen หรือ Coral-freindly sunscreen นี้มักจะไม่มีส่วนผสมสารที่เป็นพิษต่อปะการัง ได้แก่ Oxybenzone, Octinoxate, Octocrylene, Homosalate, 4-methylbenzylidene camphor, PABA, Parabens, Triclosan, ไมโครพลาสติกทุกชนิด และอนุภาคขนาดนาโนหรือสังกะสีหรือไทเทเนียมขนาดนาโน

และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ล่าสุดกรมอุทยานฯ ได้ประกาศแบนครีมกันแดดที่มีส่วนผสมดังกล่าวแล้วเช่นกัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

นอกจากการเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดที่เป็นมิตรต่อปะการัง หรือCoral-freindly sunscreen หรือ Reef-friendly sunscreen แล้ว หากอยากจะทากันแดดเพื่อปกป้องผิวและรักษ์โลกด้วย ก็สามารถทำได้หลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น

– เลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่ใช้หลอดแบบรีไซเคิลหรือหลอดที่ทำจากพลาสติกที่ย่อยสลายได้ 

– เลือกใช้ครีมกันแดดที่กันน้ำ เพราะจะติดอยู่บนผิวได้นานกว่า

– งดการออกแดดช่วงระหว่าง 10 โมงเช้า – บ่าย 2 ซึ่งเป็นช่วงที่แสงแดดแรงที่สุด

– เลือกสวมเสื้อผ้าที่มีคุณความสามารถในการปกป้องผิวจากรังสียูวี ( UPF หรือ Ultraviolet Protection Factor) ได้สูง

การรักษาปะการังก็เหมือนเราได้รักษาโลกของเราไปด้วย บางการกระทำของมนุษย์อาจจะไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าเป็นเหตุให้ปะการังและสัตว์น้ำตายลงไป มนุษย์เราอาศัยอยู่ในโลกนี้ อาศัยทรัพยากรจากทะเลในการดำเนินชีวิต หากเราไม่รักษาพวกเขาไว้ ความเสียหายก็จะวนกลับมาที่มนุษย์เอง

มารักษาพวกเขาในวันนี้ เพื่อให้พวกเขาอยู่กับเราตลอดไป

อ้างอิง:

https://www.consumerreports.org/sunscreens/the-truth-about-reef-safe-sunscreen/
https://savethereef.org/about-reef-save-sunscreen.html
https://oceanservice.noaa.gov/news/sunscreen-corals.html

ผลิตภัณฑ์กันแดด Coral-Friendly

Sun Smart
Sun Swift
Sun Fun